ติดต่อลงโฆษณา racingweb@gmail.com

ผู้เขียน หัวข้อ: หมอประจำบ้าน: เนื้องอกมดลูก (Myoma uteri/Uterine fibroids)  (อ่าน 506 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 403
    • ดูรายละเอียด
หมอประจำบ้าน: เนื้องอกมดลูก (Myoma uteri/Uterine fibroids)

เนื้องอกมดลูก (Myoma uteri/Uterine fibroids)* เป็นเนื้องอกชนิดธรรมดา ไม่ใช่เนื้อร้าย (มะเร็ง) ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 25 ของผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป มักพบในผู้หญิงอายุ 35-45 ปี แต่อาจพบในหญิงสาวก็ได้

เนื้องอกอาจมีขนาดต่าง ๆ กันไป อาจเป็นก้อนเดียวหรือหลายก้อนก็ได้ บางชนิดโตช้า แต่บางชนิดโตเร็ว

อาจเกิดอยู่ในชั้นกล้ามเนื้อของมดลูก (ซึ่งเป็นเนื้องอกของเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อล้วน ๆ เรียกว่า “Myomauteri”) ซึ่งอาจงอกเข้าไปในโพรงมดลูก หรืออยู่ที่ผนังด้านในหรือด้านนอกของมดลูก (ซึ่งเป็นเนื้องอกของเนื้อเยื่อพังผืดผสมกับเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ เรียกว่า “Uterine fibroid”) ซึ่งอาจงอกเข้าไปในช่องท้อง

* มีชื่อเรียกอื่น เช่น leiomyoma. fibromyoma


สาเหตุ

เนื้องอกมดลูกเป็นเนื้องอกที่เกิดจากการแบ่งตัวของเซลล์กล้ามเนื้อมดลูก จนกลายเป็นก้อนเนื้องอกที่มีลักษณะเป็นก้อนหยุ่น ๆ สีซีด แตกต่างจากเนื้อเยื่อโดยรอบ ซึ่งสาเหตุของการเกิดเนื้องอกมดลูกยังไม่ทราบแน่ชัด

บางรายอาจมีประวัติโรคนี้ในครอบครัว จึงเชื่อว่าอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางกรรมพันธุ์

พบว่าฮอร์โมนเอสโทรเจนมีส่วนกระตุ้นให้เนื้องอกมดลูกเจริญเติบโต เช่น ขณะตั้งครรภ์ เนื้องอกมักจะมีขนาดโตขึ้น แต่เมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน เนื้องอกก็จะฝ่อเล็กลงได้เอง นอกจากนี้ยังพบว่าในเนื้องอกมดลูกมีตัวรับ (receptor) เอสโทรเจนมากกว่าปกติ


อาการ

ถ้าก้อนขนาดเล็กอาจไม่มีอาการแสดง มักตรวจพบโดยบังเอิญ ขณะที่แพทย์ทำการตรวจภายในช่องคลอดหรือตรวจอัลตราซาวนด์บริเวณท้องน้อยด้วยสาเหตุอื่น

ถ้าก้อนขนาดโต มักมีเลือดออกมากหรือกะปริดกะปรอยคล้ายดียูบี แต่มักจะมีอาการปวดประจำเดือนร่วมด้วยหรือปวดหน่วง ๆ ที่ท้องน้อย หรือปวดหลังส่วนล่างแบบเรื้อรัง

บางรายก้อนเนื้องอกอาจโตกดอวัยวะข้างเคียงทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อย ท้องผูก หรือมีอาการปวดเฉียบขณะร่วมเพศ

ถ้าก้อนโตมาก ๆ อาจคลำได้ก้อนที่บริเวณท้องน้อยหรือมีอาการท้องโตคล้ายคนท้อง


ภาวะแทรกซ้อน

อาจทำให้เลือดออกมากจนซีด (โลหิตจาง)

ก้อนเนื้องอกอาจโตกดถูกท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะ ทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อย หรือมีความรู้สึกเวลาปวดปัสสาวะต้องรีบเข้าห้องน้ำทันที หรือปัสสาวะไม่ออก บางรายอาจมีการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะแทรกซ้อน บางรายอาจกดถูกท่อไต ทำให้เกิดภาวะท่อไตบวมและคั่งน้ำ (hydroureter) และภาวะกรวยไตบวมและคั่งน้ำ (hydrohephrosis)

ถ้ากดถูกทวารหนักก็ทำให้มีอาการท้องผูก ริดสีดวงทวารกำเริบได้

ถ้ากดถูกท่อรังไข่ก็อาจทำให้มีบุตรยาก

ขณะตั้งครรภ์ ก้อนเนื้องอกอาจโตขึ้นรวดเร็วจนทำให้แท้งบุตร หรือคลอดลำบาก

บางรายก้อนเนื้องอกอาจโตยื่นออกนอกมดลูก โดยมีก้านเชื่อมกับมดลูก บางครั้งอาจเกิดการบิดของขั้วเนื้องอก ทำให้เกิดอาการปวดท้องฉับพลันรุนแรงจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดฉุกเฉิน


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยขั้นต้นจากอาการ จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจภายในช่องคลอด พบก้อนเนื้องอกและอาจต้องตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น อัลตราซาวนด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ใช้กล้องส่องตรวจช่องท้องหรือโพรงมดลูก ตรวจชิ้นเนื้อ เป็นต้น


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. ถ้าก้อนเนื้องอกมีขนาดเล็ก อาจไม่ต้องทำอะไร และจะนัดไปตรวจทุก 6-12 เดือน ในผู้หญิงที่มีอายุ 45
ปีขึ้นไปหรือหลังวัยหมดประจำเดือน ก้อนเนื้องอกอาจยุบลงได้เอง เนื่องจากการลดลงของฮอร์โมนเอสโทรเจน (ซึ่งมีส่วนกระตุ้นให้เนื้องอกเจริญ)

2. ในรายที่มีเลือดออกกะปริดกะปรอย แพทย์จะทำการขูดมดลูกและส่งตรวจชิ้นเนื้อ (เพื่อแยกสาเหตุจากมะเร็ง) ให้กินยาเม็ดคุมกำเนิดเพื่อควบคุมภาวะเลือดออกและอาการปวดท้องน้อย หากหยุดยาก็จะมีเลือดออกได้อีกและยานี้อาจทำให้เนื้องอกโตขึ้นได้

3. ถ้าก้อนมีขนาดโต แพทย์อาจให้ยาเพื่อทำให้ก้อนเนื้องอกเล็กลง และบรรเทาอาการปวดท้องหรือเลือดออก ซึ่งเป็นการรักษาชั่วระยะหนึ่งก่อน ยาที่ใช้รักษา เช่น ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (อาจให้เดี่ยว ๆ หรือร่วมกับโพรเจสติน)

บางรายแพทย์อาจให้ยากระตุ้น gonadotropin releasing hormone ฉีดเดือนละครั้ง ซึ่งจะช่วยให้ก้อนเนื้องอกเล็กลงเพื่อเตรียมพร้อมก่อนผ่าตัด ช่วยให้ผ่าตัดง่ายขึ้น ขณะและหลังผ่าตัดมีเลือดออกน้อย ช่วยให้ปลอดภัยมากขึ้น

4. การผ่าตัด จะเลือกทำในกรณีที่มีก้อนเนื้องอกโตมาก มีเลือดออกมาก ซีด ปวดท้องรุนแรง หรือมีอาการปวดท้องน้อยหรือปวดหลังเรื้อรัง หรือถ่ายปัสสาวะบ่อย จนไม่สามารถดำเนินกิจวัตรประจำวันได้อย่างปกติ

ในรายที่เนื้องอกก้อนเล็ก หรือผู้ป่วยยังต้องการมีบุตร แพทย์จะผ่าตัดเฉพาะส่วนที่เป็นเนื้องอกออกไป
ซึ่งในปัจจุบันสามารถใช้วิธีผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องเข้าช่องท้อง (lapraroscopic myomectomy) หรือเข้าโพรงมดลูก (hysteroscopic myomectomy)

ในรายที่ก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่และไม่ต้องการมีบุตรก็จะผ่าตัดเอามดลูกออกทั้งหมด (hysterectomy) ซึ่งอาจใช้วิธีเปิดแผลเข้าหน้าท้องหรือทางช่องคลอด

ผลการรักษา หลังผ่าตัดมักจะหายขาดและไม่มีภาวะแทรกซ้อนตามมาภายหลัง


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีประจำเดือนออกมากหรือกะปริดกะปรอย ปวดประจำเดือนมาก มีอาการปวดหน่วง ๆ ที่ท้องน้อย หรือปวดหลังส่วนล่างแบบเรื้อรัง หรือคลำได้ก้อนที่บริเวณท้องน้อยหรือมีอาการท้องโตคล้ายคนท้อง ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นเนื้องอกมดลูก ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด

ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลา
    ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล เนื่องจากโรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

ควรหาทางป้องกันไม่ให้โรคกลายเป็นรุนแรงด้วยการดูแลรักษากับแพทย์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง

ข้อแนะนำ

1. ผู้หญิงที่มีเลือดออกทางช่องคลอดนานกว่า 7 วัน อาจมีสาเหตุจาก ดียูบี เนื้องอกมดลูก มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเยื่อบุมดลูก โรคเลือด เป็นต้น จึงควรไปตรวจที่โรงพยาบาลโดยเร็ว (ตรวจอาการเลือดออกทางช่องคลอด/ประจำเดือนออกมากกว่าปกติ/ตกเลือดระหว่างตั้งครรภ์เพิ่มเติม)

2. เนื้องอกมดลูกเป็นเนื้องอกธรรมดาไม่ใช่มะเร็ง เนื้องอกมดลูกส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก ไม่มีอาการแสดง ไม่มีอันตรายใด ๆ และไม่จำเป็นต้องให้การรักษาแต่อย่างใด ส่วนน้อยที่มีอาการก็สามารถรักษาให้หายขาดได้