ติดต่อลงโฆษณา racingweb@gmail.com

ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: หวัดภูมิแพ้ (Allergic rhinitis)  (อ่าน 703 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 401
    • ดูรายละเอียด
ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: หวัดภูมิแพ้ (Allergic rhinitis)

หวัดภูมิแพ้ (เยื่อจมูกอักเสบเหตุภูมิแพ้ จมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หวัดจากการแพ้ หวัดแพ้อากาศ โรคแพ้อากาศ ก็เรียก) หมายถึงเยื่อจมูกอักเสบที่เกิดจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ของร่างกาย จัดเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง* ซึ่งพบได้ในคนทุกวัย มักเริ่มแสดงอาการในช่วงวัยรุ่นหรือวัยเรียน พบได้ประมาณร้อยละ 10-25 ของคนทั่วไป จากการศึกษาในบ้านเราพบโรคนี้ในเด็กวัยเรียนประมาณร้อยละ 20-40

ผู้ป่วยมักมีประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัว (เช่น หืด ลมพิษ ผื่นคัน หวัดภูมิแพ้) และมักมีโรคภูมิแพ้อื่น ๆ (ที่สำคัญ คือ โรคหืด) ร่วมด้วย

โรคนี้มักมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรังเป็นแรมเดือนแรมปี น่ารำคาญ อาจมีอาการกำเริบเป็นบางฤดูกาลหรืออาจเป็นประจำตลอดทั้งปี ทั้งนี้ขึ้นกับสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นสาเหตุ

ถ้าเกิดจากละอองเกสร หญ้า หรือวัชพืช เรียกว่า ไข้ละอองฟาง (hay fever)

*โรคภูมิแพ้ (allergic disorders) เกิดจากร่างกายมีปฏิกิริยาต่อสารก่อภูมิแพ้ (allergen) แล้วปล่อยสารเคมี เช่น ฮิสตามีน (histamine) ไคเมส (chymase) พรอสตาแกลนดิน (prostaglandin) ไซโตไคน์ (cytokine) ลิวโคทรีน (leukotriene) แบรดิไคนิน (bradykinin) เป็นต้น ออกมา ถ้าสารเหล่านี้มาแสดงปฏิกิริยาที่ผิวหนังก็ทำให้เป็นโรคแพ้ทางผิวหนัง เช่น ลมพิษ ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ เป็นต้น ถ้าแสดงออกที่ตาก็กลายเป็นโรคเยื่อตาขาวอักเสบ ถ้าแสดงออกที่จมูกก็กลายเป็นหวัดภูมิแพ้ ถ้าแสดงออกที่หลอดลมก็กลายเป็นหืด

โรคภูมิแพ้มักมีสาเหตุจากกรรมพันธุ์ คือ มีพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ญาติพี่น้องเป็นโรคภูมิแพ้อยู่ด้วย นอกจากนี้ ความเครียดทางจิตใจก็มีส่วนกระตุ้นให้อาการกำเริบได้

ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อาจแสดงออกเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลาย ๆ อย่างพร้อม ๆ กันก็ได้ ในรายที่เกิดจากการแพ้อาหารอาจมีอาการปวดท้องท้องเดินร่วมด้วยได้ (ดูโรคลมพิษ)

สารก่อภูมิแพ้ ได้แก่ ไรฝุ่นบ้าน (dust mites) เชื้อรา ละอองเกสร หญ้า วัชพืช สัตว์เลี้ยงในบ้าน (โดยเฉพาะแมว) อาหาร (เช่น นม ไข่ เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ถั่วลิสง สารกันบูด สีผสมอาหาร) ยา (แอสไพริน เพนิซิลลิน ซัลฟา ยาชา) ฝุ่นละออง ความเย็น ความร้อน แดด เชื้อแบคทีเรีย พยาธิ แมลง แมลงสาบ สารเคมี แอลกอฮอล์ เป็นต้น

ผู้ป่วยมักจะแพ้สารได้หลาย ๆ อย่าง และมีโอกาสแพ้ยาได้ง่ายกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคภูมิแพ้ จึงควรระมัดระวังในการใช้ยาสำหรับผู้ป่วยโรคนี้

การแพ้อาจเกิดขึ้นโดยการสัมผัส สูดดม กิน หรือฉีดเข้าร่างกายทางใดทางหนึ่ง

โรคภูมิแพ้ทุกชนิดรวมกันแล้ว พบได้ประมาณร้อยละ 30 ของคนทั่วไป

สาเหตุ

เกิดจากความผิดปกติที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ทำให้ร่างการเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ เป็นผลให้มีการหลั่งสารเคมีหลายชนิดออกมาทำให้เกิดอาการคัน จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล

สารก่อภูมิแพ้ที่พบบ่อย ได้แก่ ละอองเกสร หญ้า วัชพืช สปอร์ของเชื้อราที่อยู่นอกบ้าน ทำให้เกิดอาการกำเริบในบางฤดูกาล ส่วนผู้ที่มีอาการตลอดปีมักเกิดจากสารก่อภูมิแพ้ภายในบ้าน เช่น ไรฝุ่นบ้าน แมลงสาบ สัตว์เลี้ยง ฝุ่นละออง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการแพ้อาหาร (เช่น อาหารทะเล) ซึ่งมักจะพบร่วมกับโรคภูมิแพ้อื่น ๆ เช่น หืด ลมพิษ ผื่นคัน

ผู้ที่เป็นโรคหวัดภูมิแพ้ มักมีการตอบสนองไวเกินต่อสิ่งกระตุ้น (สิ่งระคายเคือง) เช่น กลิ่นฉุน ๆ บุหรี่ ควัน อาหารเผ็ด แอลกอฮอล์ อากาศเปลี่ยน ความชื้น ทั้งนี้โดยไม่เกี่ยวกับปฏิกิริยาภูมิแพ้แบบสัมผัสสารก่อภูมิแพ้


อาการ

มีอาการเป็นหวัด คัดจมูก จามบ่อย น้ำมูกมีลักษณะใส ๆ มักมีอาการคันในจมูก คันคอ คันตา น้ำตาไหล เจ็บคอ แสบคอ หรือไอแห้ง ๆ (แบบระคายคอ) ร่วมด้วย

บางรายอาจมีอาการปวดตื้อตรงบริเวณหน้าผากหรือหัวคิ้ว หรือปวดศีรษะ หูอื้อ หรือมีเสียงดังในหู (เนื่องจากท่อยูสเตเชียนตีบ) การรับรู้กลิ่นน้อยลง หรือหายใจมีกลิ่นเหม็น

อาการมักเกิดเวลาถูกอากาศเย็น ควัน ฝุ่นละออง สารก่อภูมิแพ้ หรือสิ่งกระตุ้นอื่น ๆ

บางรายอาจมีอาการตอนช่วงเช้า ๆ พอสาย ๆ ก็ทุเลาไปได้เอง

ในรายที่เป็นมากอาจมีอาการอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ

บางรายอาจมีอาการของโรคหืดร่วมด้วย หายใจมีเสียงดังวี้ด หรือรู้สึกแน่นอึดอัดในหน้าอก

ภาวะแทรกซ้อน

โดยทั่วไปมักไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง 

ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจทำให้อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต การเรียน การทำงาน

บางรายอาจเป็นโรคหืดร่วมด้วย

ในรายที่เป็นเรื้อรัง อาจกลายเป็นไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หรือติ่งเนื้อเมือกจมูก

เด็กบางรายอาจมีอาการนอนกรน และเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก

มักตรวจพบเยื่อจมูกบวมและซีด หรือเป็นสีม่วงอ่อน ๆ ต่างจากไข้หวัด หรือไซนัสอักเสบ ซึ่งเยื่อจมูกจะมีลักษณะบวมและออกสีแดง มักพบน้ำมูกลักษณะใส ๆ (ถ้าน้ำมูกมีสีเหลืองหรือเขียว แสดงว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม หรือเป็นไซนัสอักเสบ)

บางรายอาจพบเยื่อตาขาวออกแดงเล็กน้อย

ในเด็กที่มีอาการคันจมูก จะยกมือขึ้นขยี้จมูกบ่อย ๆ อาจทำให้เกิดรอยย่นที่สันจมูก (เรียกว่า allergic nasal line)

อาจพบผิวหนังบริเวณขอบตาล่างบวมและมีสีคล้ำ (เรียกว่า allergic shiners)

บางรายอาจพบติ่งเนื้อเมือกจมูก ใช้เครื่องฟังตรวจปอดมีเสียงวี้ด (wheezing)

ในรายที่จำเป็นต้องวินิจฉัยโรคให้แน่ชัด แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น การใช้กล้องส่องตรวจภายในโพรงจมูก (nasal endoscopy), การตรวจอีโอซิโนฟิลในเลือด (พบมากกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนเม็ดเลือดขาวทั้งหมด) หรือในเสมหะ (พบมากกว่าร้อยละ 30), การทดสอบผิวหนัง (skin test) ดูว่าแพ้สารอะไร, เอกซเรย์ไซนัส (ดูว่ามีการอักเสบหรือไม่) เป็นต้น

การรักษาโดยแพทย์

นอกจากแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยแล้ว แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. ถ้ามีอาการเพียงเล็กน้อย เป็นช่วงสั้น ๆ เช่น ตอนเช้าหลังตื่นนอน ตอนสาย ๆ หายได้เอง ก็ไม่จำเป็นต้องให้ยารักษา แต่ถ้ามีอาการน้ำมูกไหลมาก หรือไอจนน่ารำคาญ ให้กินยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน, ไดเฟนไฮดรามีน หรือยาแก้แพ้ที่ไม่ง่วง (เช่น ลอราทาดีน, เซทิริซีน เป็นต้น)

ถ้ามีอาการคัดจมูกมากหรือหูอื้อร่วมด้วย ให้กินยาแก้คัดจมูก เช่น สูโดเอฟีดรีน ควบด้วย

ถ้าไอมากให้กินยาระงับการไอ

ยาเหล่านี้ให้กินเมื่อมีอาการจนน่ารำคาญ หรือมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต เมื่ออาการดีขึ้นก็ให้หยุดยา แต่ถ้ากำเริบใหม่ก็ให้กินใหม่ บางคนที่เป็นอยู่ประจำทุกวัน ก็อาจต้องคอยกินยาไปเรื่อย ๆ

2. ให้การรักษาดังกล่าวแล้วไม่ได้ผล หรือเป็นเรื้อรัง (มีอาการมากกว่า 4 วันต่อสัปดาห์ และมีอาการติดต่อกันนานกว่า 4 สัปดาห์) หรือรุนแรง (มีอาการนอนไม่หลับ นอนกรน มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ มีผลกระทบต่อการเรียน การงาน หรือคุณภาพชีวิต) แพทย์จะให้ยาสเตียรอยด์ชนิดพ่นจมูกวันละ 1-2 ครั้ง

3. ถ้ารักษาด้วยวิธีดังกล่าวไม่ได้ผล แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม และรักษาด้วยยาหรือวิธีอื่น ๆ ในบางรายแพทย์อาจต้องทำการทดสอบผิวหนัง (skin test) ว่าแพ้สารอะไร แล้วให้การรักษาด้วยการขจัดภูมิไว (desensitization/hyposensitization) โดยการฉีดสารที่แพ้เข้าร่างกายทีละน้อย ๆ เป็นประจำทุก 1-2 สัปดาห์ นาน 3-5 ปี วิธีนี้จะได้ผลดีในรายที่แพ้ไรฝุ่นบ้าน เชื้อรา ละอองเกสร หญ้าวัชพืช ขุยหนังหรือรังแคแมว (cat dander) สำหรับเด็กวิธีนี้อาจช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคหืดตามมาได้

ผลการรักษา ส่วนใหญ่สามารถควบคุมอาการได้ดีด้วยยาแก้แพ้และสเตียรอยด์ชนิดพ่นจมูก แต่เมื่อหยุดยาก็อาจกำเริบได้อีก

ส่วนน้อยที่ต้องให้การรักษาด้วยยากลุ่มอื่น หรือวิธีอิมมูนบำบัด (การขจัดภูมิไว)

ในรายที่ดื้อต่อการรักษาอาจเกิดจากการใช้ยาไม่ถูกต้อง หรืออาจมีโรคอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หืด ติ่งเนื้อเมือกจมูก แพทย์จะปรับยาที่ใช้ให้เหมาะสม หรือรักษาโรคที่พบร่วม

การดูแลตนเอง

ถ้ามั่นใจหรือได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นหวัดภูมิแพ้ ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    สังเกตว่าเกิดจากสารก่อภูมิแพ้หรือสิ่งกระตุ้นอะไร แล้วพยายามหลีกเลี่ยง เช่น มีอาการขณะกวาดบ้านหรือถูกฝุ่นก็แสดงว่าเกิดจากฝุ่น ถ้าเป็นขณะอยู่ในห้องนอนก็อาจเกิดจากไรฝุ่นบ้าน ถ้าเป็นขณะสัมผัสสัตว์เลี้ยงก็อาจเกิดจากสัตว์เลี้ยง เป็นต้น วิธีหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ (เช่น ไรฝุ่นบ้าน เชื้อรา สัตว์เลี้ยง ละอองเกสร ดูเพิ่มเติมในโรคหืด หัวข้อ "การป้องกัน ข้อที่ 1 หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้และสิ่งระคายเคือง")
    หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และรู้จักผ่อนคลายความเครียด
    ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือตามคำแนะนำของแพทย์
    ใช้ยารักษาตามที่แพทย์แนะนำ เช่น ยาแก้แพ้ ยาแก้คัดจมูก ยาแก้ไอ เป็นต้น

ควรไปพบแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีอาการมากจนทำให้นอนไม่หลับ หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน หรือทำให้ผู้ที่เป็นโรคหืดมีอาการหอบหืดกำเริบ
    มีน้ำมูกหรือเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว 
    ปวดหน่วงตรงหัวคิ้วหรือโหนกแก้ม หรือสงสัยเป็นไซนัสอักเสบแทรกซ้อน
    มีเลือดกำเดาไหล ปวดหู หูอื้อ หรือคลำได้ก้อนที่ข้างคอ
    ใช้ยารักษา 1 สัปดาห์แล้วไม่ดีขึ้น
    หลังกินยา มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
    มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลตนเอง

การป้องกัน

1. หลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ (ดูเพิ่มเติมในโรคหืด หัวข้อ "การป้องกัน ข้อที่ 1 หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้และสิ่งระคายเคือง")

2. รักษาสุขภาพทั่วไปให้แข็งแรง โดยการบำรุงอาหารสุขภาพ (กินผักผลไม้ให้มาก ๆ) ออกกำลังกายเป็นประจำ (เช่น วิ่งเหยาะ เดินเร็ว ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ) นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และผ่อนคลายความเครียด (เช่น ฝึกโยคะ รำมวยจีน สวดมนต์ ฝึกสมาธิ ฟังเพลง) ก็อาจมีส่วนช่วยให้โรคทุเลาได้

ข้อแนะนำ

1. โรคนี้มักเป็นเรื้อรัง ไม่ค่อยหายขาด ถ้าอาการไม่มากพอทนได้ ก็ไม่จำเป็นต้องกินยาอะไรทั้งสิ้น ถ้าจำเป็นก็แนะนำให้ไปพบแพทย์และกินยาตามที่แพทย์แนะนำ และรักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกำลังกายมีส่วนให้อาการห่างขึ้นหรือลดการใช้ยาลงได้

2. ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการซื้อยาชุดหรือยาลูกกลอนกินเอง เพราะมักมียาสเตียรอยด์ผสม แม้ยานี้จะช่วยให้อาการทุเลาได้ แต่ถ้ากินไปนาน ๆ ก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงแทรกซ้อนตามมาหลายอย่าง ซึ่งอาจเกิดอันตรายร้ายแรงได้

3. การใช้ยาปฏิชีวนะ ไม่มีความจำเป็นในการรักษาโรคนี้เพราะไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ ยกเว้นในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เช่น ไซนัสอักเสบ หรือหูชั้นกลางอักเสบ ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ในการใช้ยาชนิดนี้

4. ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาพ่นจมูก ควรให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาสั่งใช้ เพราะยาบางชนิดที่เข้ายาแก้แพ้หรือแก้คัดจมูก เมื่อหยอดบ่อยเกินไป ก็อาจทำให้เยื่อจมูกอักเสบมากยิ่งขึ้น

5. ในกรณีเป็นหวัด คัดจมูก โดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจนนานเกิน 2 สัปดาห์ ควรให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุ (ตรวจอาการ คัดจมูก/น้ำมูกไหล ประกอบ)